กระติกใส่ไอติม
แต่ก่อนใครบางคนคงทันได้ยินเสียงกระดิ่ง เห็นคนขายไอติม สะพายกระติกไอติมแท่งเดินขายไปทั่ว เป็นกระติกสังกะสีข้างในเป็นแก้วกักเก็บความเย็นสวมอยู่ในตระกร้าหวายยาวๆ สำหรับสะพายบ่า
ไอติม (ไอศครีม-Ice cream) แต่ก่อนเป็นอุตสาหกรรมครัวเรือน ไม่มียี่ห้อ ใครมีหัวการค้าก็มีคน รับไปขายอีกต่อหนึ่ง นักเรียนหลายคนมารับไปขาย เป็นรายได้พิเศษ หลังเลิกเรียน ขณะที่ผู้ใหญ่อีกเป็นจำนวนมาก ที่ขายไอติม เป็นอาชีพหลัก และเป็นอาชีพที่ไม่ต้องลงทุนมาก เพียงแต่วางเงินมัดจำค่ากระติกใส่ไอติมและต้นทุนอีกเล็กน้อย ก็สะพายขึ้นไหล่ไปขายได้ทันที
จากกระติกสะพายไหล่กลายเป็นรถเข็นที่มีตู้เก็บความเย็น สามารถใส่ไอติมได้คราวละมาก ๆ เดินเข็นขายได้ทั้งวัน ต่อมาจึงเป็นซาเล้งหรือสามล้อถีบ ซึ่งช่วงแรก ๆ ยังไม่นิยมนักเพราะต้นทุนสูง บริษัทป๊อปจึงลงทุนทำเป็นรถซาเล้งเพิ่มขึ้น มาจึงได้รับความนิยมเพราะคนขายไม่ต้องซื้อรถเอง โดยไอติมตราเป็ดเป็นยุคแรก ๆ ที่เริ่มพัฒนามาใช้รถสามล้อถีบ คนขายมีถือ Duck Call เสียงดังคล้ายเป็ด เพื่อเรียกลูกค้า นับตั้งแต่นั้นมาสามล้อถีบก็กลายเป็นทั้งสัญลักษณ์ และกลยุทธ์ในการขายไอศกรีม หลายยี่ห้อ เช่น โฟร์โมสต์ ครีโม วอลล์ ฯลฯ ไอติมเหล่านี้มีลูกเล่นกับลูกค้าหลายรูปแบบ บางคนอาจจะเคยกินไอติมที่ปลายไม้ป้ายสีแดง แล้วนำไปแลกได้ฟรีอีก 1 แท่ง ขณะที่ไอติมป๊อปใช้วิธีสลักคำว่าฟรีบนไม้ ใครพบคำนี้นำมาแลกฟรี 1 แท่ง บางยี่ห้อใช้วิธีทายไม้สั้นไม้ยาว กำถั่ว โยนหัวโยนก้อย เหล่านี้เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่ได้ผลดีมาก ซาเล้งขายไอติมซึ่งมีทั้งแบบแท่งและถ้วยครองตลาดอยู่นาน ขณะที่ร้านขายไอศกรีมยังไม่มีใครทำ กระทั่งปี 2520 "ศาลาโฟร์โมสต์" จึงเกิดขึ้น และเป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นมาก
ข้อมูลประกอบ nopphakhun , http://61.19.69.9